วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จังหวัดยโสธร


Yasothon : ยโสธร
บุญบั้งไฟยโสธร


จังหวัดยโธร  จากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ.2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น "เมืองยโสธร" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา
ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ

คลิกดูแผนที่ขนาดใหญ่  อาณาเขต
ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดอุบลราชธานี
ทิศใต้ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศเหนือติดกับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนครพนม
หมอนขวาน
  ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-- กิโลเมตร
อำเภอทรายมูล18 กิโลเมตร
อำเภอคำเขื่อนแก้ว23 กิโลเมตร
อำเภอป่าติ้ว28 กิโลเมตร
อำเภอกุดชุม37 กิโลเมตร
อำเภอมหาชนะชัย41กิโลเมตร
อำเภอไทยเจริญ50กิโลเมตร
อำเภอเลิงนกทา69กิโลเมตร
อำเภอค้อวัง70กิโลเมตร
ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ
  • งานประเพณีบุญบั้งไฟ
          มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยแต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
          บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง เล่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี
          บั้งไฟที่จัดทำมีหลายชนิดคือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับขบวนเซิ้งบั้งไฟนั้นมีความยาวหลายกิโลเมตร
          ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา 

  • งานประเพณีแห่มาลัย
          จัดในช่วงวันมาฆบูชา มีการนำข้าวตอก ดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชา จากความเชื่อในเรื่องว่า
    1. พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ มาเทศน์โปรดมารดาเหล่าเทวดาแสดงความยินดี โดยการโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็พุทธบูชา
    2. ตามโบราณอีสานนิยม เมื่อมีการขนข้าวขึ้นเล้วเขาจะแยกข้าวบางส่วน ใส่กระสอบหรือกระเฌอเอาไว้สำหรับ ตำกิน กะให้พอดีกินถึงวันเปิดเล้าคือ เมื่อเอาข้าวขึ้นเล้าและสู่ขวัญข้าวเสร็จคนโบราณจะปิดเล้าข้าวไว้และจะเปิดเล้าข้าวอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำข้าวมาตำกินในช่วงเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หรือวันมงคลอื่นๆ ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่น สำหรับบ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย ได้กำหนดเอาวันมาฆบูชา โดยจะทำการเปิดเล้าข้าวและร่วมทำบุญตักบาตรตลอดจนการให้ทานต่างๆและเพื่อเป็นพุทธบูชาและความเป็นสิริมงคล ในการจัดข้าวตอกดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชาได้มาปฏิบัติทุกปีติดต่อกันมามิได้ขาด ในตอนแรกการนำข้าวตอกดอกไม้เป็นบูชานั้นจะนำใส่พานแล้วโปรยเวลาพระเทศน์ ต่อมาได้นำข้าวตอกดอกไม้มาประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงาม ด้วยการร้อยเป็นพวงคล้ายพวงมาลัย จึงเรียกกันว่า "พวงมาลัย" และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเป็นพวงมาลัยข้าวตอกบ้าง บางทีก็ใช้ดอกไม้พลาสติกและลูกปัดร้อยเข้าไปด้วยเพื่อให้สวยงามขึ้น
          ในการทำพวงมาลัย จะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 4-5 หลังคาเรือนหรือใครจะมีศรัทธาทำตนเฉพาะตนก็ได้ ในปัจจุบันการร้อยมาลัยเป็นสายจะมีความยาวประมาณ 4-6 เมตร ในการทำบุญพวงมาลัย จะมีการนำพวงมาลัยมาแห่รอบเมืองเป็นขบวนสวยงาม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นส่วนอื่นๆ จากนั้นจะนำไปถวายวัดก่อนถึงวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ทางวัดจะนำไปแขวนประดับประดาไว้บนศาลาการเปรียญเพื่อเป็นพุทธบูชา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย โทร. 0 4579 9341,0 4579 9103
พระธาตุก่องข้าวน้อยพระธาตุก่องข้าวน้อย
ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23 - 25 ตรงกับ สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง
พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุ มีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5x5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
พระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อย กลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่า ข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง ซึ่งกรมศิลปากรกำลังดำเนินการจัดตั้งอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ขึ้น
โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ (มุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์) โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ (มุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์)
เป็นโบสถ์ไม้ขนาดใหญ่มีเสาถึง 336 ต้น ใช้กระดานทำแป้นเกร็ดมุมหลังคา 80,000 แผ่น สามารถจุคริสตศาสนิกชนได้ร่วม 500 คน มิได้เพียงแต่ขนาดที่ใหญ่โตเท่านั้น โบสถ์นี้ยังได้ชื่อว่าเป็น โบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิก ที่ก่อสร้างด้วยไม้และมีหน้าจั่วประดับกระจกซึ่งใหญ่ทีสุดในภาคอีสาน โบสถ์นี้มีชื่อเป็นทางการว่า "วัดอัครเทวดามิคาแอล" การเดินทาง จากยโสธรใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลยอำเภอกุดชุมไปประมาณ 7-8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 600 เมตร ถึงบริเวณโรงเรียนซ่งแย้พิทยาและโบสถ์ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน
หมอนอิงสามเหลี่ยม บ้านศรีฐานหมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน
ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-ป่าคิ้ว-อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18-19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร หลังฤดูทำนาชาวบ้านที่นี่แทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้า และทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิตไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา
กระติบข้าวบ้านทุ่งนางโอก
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร-กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก โดยเฉพาะกระติบข้าว ผู้ที่มีความสามารถในการสานกระติบข้าว เริ่มจากเด็กนักเรียนระดับอนุบาล เรื่อยไปถึงคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น